ผ้าซิ่นตระกูลเชียงแสนโบราณ

หากกรุงศรีอยุธยา คือ แก่นแกน หัวใจของอารยธรรมไทยที่ต่อมากลายเป็นต้นแบบให้แก่กรุงรัตนโกสินทร์ เมืองเชียงแสน ก็เป็นเฉกเช่นเดียวกันมรดกทางภูมิปัญญาที่ปรากฏบนแผ่นดินล้านนาจำนวนไม่น้อยที่ได้รับการสืบทอด และรังสรรค์ขึ้นโดยภูมิปัญญาจากบรรพบุรุษชาวไทยวนเชียงแสน


เมืองเชียงแสน เป็นเมืองโบราณเก่าแก่ที่มีความสำคัญมาตั้งแต่ก่อนสร้างเมืองเชียงใหม่ ในยุคราชวงศ์มังราย เมืองเชียงแสนได้ชื่อว่าเป็นเมืองหลวงแห่งที่สองของล้านนา ต่อมาเมื่อถึงสมัยที่พม่าเข้าปกครองดินแดนล้านนา เมืองเชียงแสนยิ่งได้รับความสำคัญมากขึ้นไปอีก เนื่องจากพม่าต้องการให้เชียงแสน เป็นศูนย์กลางการปกครองล้านนา แทนที่เมืองเชียงใหม่ที่มักแข็งข้ออยู่เสมอ ในช่วงยุคนี้เอง ที่เชียงแสนมีความเจริญรุ่งเรืองถึงขีดสุด กลายเป็นศูนย์กลางของการค้า ศาสนา และศิลปวิทยาการ ก่อนจะถูกทำลายลงอย่างราบคาบ ในช่วงต้นรัตนโกสินทร์
ชาวเชียงแสนจำนวนมาก จึงถูกกวาดต้อนกระจายไปอยู่ทั่วดินแดนล้านนาและสืบทอดวัฒนธรรมทางภูมิปัญญาอันเก่าแก่ไว้ เป็นมรดกภูมิปัญญาอันทรงคุณค่าจวบจนปัจจุบัน


ภาพถ่ายชุดนี้ เป็นความพยายามปะติดปะต่อ สร้างภาพความรุ่มรวยทางวัฒนธรรมของเมืองเชียงแสน ในยุคพม่าปกครอง โดยอาศัยจินตนาการเป็นหลักสำคัญ ประกอบเข้ากับหลักฐานทางโบราณคดีร่วมสมัย ที่มีอยู่อย่างน้อยนิด อันได้แก่ ภาพจิตรกรรมฝาผนังวิหารน้ำแต้ม คัมภีร์พับสา จากชุมชนลำปางหลวง ซึ่งเขียนในราวพุทธศตวรรษที่ 23 (ช่วงพม่าปกครองดินแดนล้านนา) ปรากฎกลิ่นอายศิลปะพม่า ยุคนยองยานอย่างชัดเจนเครื่องประดับชิ้นเล็ก ชิ้นน้อย ทำขึ้นใหม่จากต้นแบบเครื่องประดับที่ขุดค้นพบได้ที่เมืองเชียงแสน อาทิ ลานหู ปิ่น จี้ เป็นต้น
ผ้าซิ่น ทอขึ้นอย่างประณีต ด้วยวัสดุชั้นดี เลียนแบบผ้าซิ่นโบราณ รูปแบบเก่าแก่ของล้านนา ที่เรียกว่า “ผ้าซิ่นตระกูลเชียงแสนโบราณ”

Leave a Comment